วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Don't wait until it's too late! อย่ารอ จนสายเกินไป "จาตุรนต์" ชี้เด็กไทยต้องเปลี่ยนการเรียนอังกฤษ


Don't wait until it's too late! อย่ารอ จนสายเกินไป

 "จาตุรนต์ ชี้เด็กไทยต้องเปลี่ยนการเรียนอังกฤษ "




เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่โรงแรมตรัง กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดยสถาบันภาษาอังกฤษ กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดประชุมเสวนา "ประเทศไทยควรปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างไร" มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม โดยมีนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีบทบาทในการพัฒนาภาษาอังกฤษจากสถาบันต่าง ๆ องค์กรเอกชน ผู้บริหารระดับสูงที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน นักวิชาการ ผู้แทนนักเรียน เข้าร่วมรับฟัง

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปการเรียนการสอน ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาฯกำลังดำเนินการอยู่ และควรมีความชัดเจนว่าการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อไปใช้อะไร ใช้สื่อสาร ใช้เรียนต่อ หรือใช้หาความรู้มีคนจำนวนมากเรียนภาษาอังกฤษจนกระทั้งเรียนจบแล้ว ก็ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมาพิจารณาว่าการวัดผลนั้นวัดด้วยอะไร ส่วนคะแนน O-NET ในวิชาภาษาอังกฤษ ที่เราบอกว่ามีผลดีขึ้นนั้น เราวัดจากอะไร วัดจากการจำศัพย์ หรือแกรมม่า (ซึ่งบางคนผลการวัด TOEFLผ่านแต่เข้าไปอเมริกาแล้วพูดภาษาอังกฤษไม่ได้) 

ทั้งนี้ 90%ของการเรียนภาษาอังกฤษเรา จะไม่เน้นให้ผู้เรียนสื่อสารได้ ส่วนใหญ่ยังเน้นท่องศัพท์ และไวยากรณ์ ดังนั้น กระบวนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะต้องเปลี่ยน แต่จะดูว่าเราจะเปลี่ยนกันอย่างไร จากประสบการณ์ 16 ปี ที่ผมเรียนมา ในวิชาเรียนภาษาอังกฤษไม่มี Conversation หรือการฝึกสนทนาภาษาอังกฤษแม้แต่ชั่วโมงเดียว และปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นแบบเดิมจึงทำให้ผู้เรียนไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งปัจจุบันบางโรงเรียนจ้างครูต่างประเทศมาสอน มีโรงเรียนที่เปิดสอนอิงลิชโปรแกรม ก็จะได้กับเด็กบางคน หรือกลุ่มเด็กที่เรียนโรงเรียนนานาชาติ ดังนั้น เราจะต้องกำหนดเป้าหมายตามสภาพที่แตกต่างกันของเด็ก และสภาพของโรงเรียน ที่มีครูต่างกัน

"รวมถึงกำหนดเป้าหมายว่าจะต้องให้ผลการเรียนเฉลี่ยของวิชาภาษาอังกฤษดีขึ้น และมีล่ามภาษาอังกฤษมากขึ้นได้อย่างไร และให้ได้คนเก่งภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น หากจะเปลี่ยนวิธีการสอนภาษาอังกฤษทางโรงเรียนควรจะมีวิชาเลือกภาษาอังกฤษ เพราะการเรียนภาษาอังกฤษหากไม่เรียนแบบเข้มข้น ก็เหมือนเอาน้ำไปตากแดดซึ่งจะไม่มีทางเดือดได้ส่วนค่ายภาษาอังกฤษจะต้องเข้มข้นและเพิ่มระยะเวลายาวขึ้น และควรใช้แท็บเล็ตส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้สำเนียงจากเจ้าของภาษา การเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และควรใช้สื่อที่มีอยู่หลากหลายมาใช้พัฒนาผู้เรียนได้อย่างไร รวมถึงจะต้องมองให้เห็นปัญหาใหญ่ และหากเทียบกับประเทศอื่น เราอยู่ตรงจุดไหน " นายจาตุรนต์ กล่าว 

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลที่สถาบันภาษาอังกฤษ นำเสนอผลจากโครงการทบทวนและวิเคราะห์สถานการณ์นโยบายการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทยและต่างประเทศ ในวันนี้ ถือว่ายังไม่น่าพอใจ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปขนานใหญ่ทั้งกระบวนการผลิตและพัฒนาครูในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการสอนภาษาอังกฤษ โดยโจทย์สำคัญจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่นโยบายที่ว่า การเรียนการสอนภาษาอังกฤษ จะต้องเป็นแบบใดจึงจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากประเทศอื่นพัฒนาไปเร็วมากแล้ว

ทั้งนี้ ผศ.ดร.เสงี่ยม โตรัตน์ ผอ.สถาบันภาษาอังกฤษ สพฐ. ได้กล่าวรายงานผลการดำเนินโครงการทบทวนและวิเคราะห์สถานการณ์นโยบายการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทยและต่างประเทศ ซึ่งศึกษาจากเอกสาร ข้อมูลเครือข่ายคอมพิวเตอร์และสัมภาษณ์นักศึกษา อาจารย์จากกลุ่มประเทศต่าง ๆเพื่อทบทวนสาระที่ได้จากเอกสารและการประชุมระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ด้านภาษาศาสตร์ ด้านการวัดผลภาษา และนักวางแผนการศึกษาระดับนานาชาติ เพื่อสรุปเป็นแนวทางการจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพภาษาอังกฤษของคนไทย

สำหรับวัตถุประสงค์ในการวิจัยก็เพื่อศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการจัดการด้านการสอนภาษาอังกฤษในประเทศจีน สิงค์โปร มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เพื่อศึกษารูปแบบนวัตกรรมที่ส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษนอกเหนือจากการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการของโรงเรียนในกลุ่มประเทศดังกล่าวและเพื่อเสนอองค์ความรู้ที่อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ในการเสริมศักยภาพการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของคนไทย โดยแนวทางการศึกษาแบ่งเป็น 4 ด้านหลัก คือ ด้านนโยบายการกำหนดภาษาประจำชาติและภาษาต่างประเทศ ด้านการดัดแปลงภาษาให้เหมาะสมกับบริบทการใช้ ด้านการวางแผนหลักสูตร การพัฒนาครู และการวัดผล และด้านการดำเนินการสร้างเสริมสภาพแวดล้อม พฤติกรรมการเรียน ภาษาที่จะเสริมศักยภาพการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ 

"ซึ่งผลการศึกษาที่น่าพอใจ คือด้านนโยบายการกำหนดภาษาประจำชาติ และความเป็นมาของนโยบายภาษาต่างประเทศจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยประเทศสิงค์โปร์ เรียน 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และภาษาแม่ แก้ปัญหาการเมือง เข้าถึงนานาชาติ และคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ รัฐสนับสนุนการเรียนทุกภาษา และมีการวัดผล ส่วนประเทศมาเลเซียปรับภาษาชาติเป็นภาษาบาฮาซา มลายู ภาษาอังกฤษกลายเป็น EFLแต่ใช้สอน วิทย์และเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 2003 ในโรงเรียนรัฐบาลทุกแห่งได้ผลคุ้มค่า จะเลิกหมดทุกชั้นในปี 2015 พัฒนาภาษาอังกฤษไปพร้อม ๆกับบาฮาซาร์ มลายู ขณะที่ประเทศจีน ใช้ภาษาแมนดาริน และภาษาจีนในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วประเทศ ส่วนประเทศเวียดนาม ใช้ภาษาชาติตามประเทศที่เข้าครอง ปัจจุบันใช้ภาษาเวียดนาม และภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน

ด้านนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวภายหลังเดินทางมาร่วมประชุมเสวนา"ประเทศไทยควรปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างไร" ว่า ต้องขอชื่นชมสถาบันภาษาอังกฤษ ที่เห็นประเด็นปัญหาและเรื่องรีบเร่งที่ต้องพัฒนา ซึ่งการมองของคนนอกจะเห็นความสามารถของการใช้ภาษาอังกฤษ เนื่องจากไทยให้ความสำคัญกับภาษาต่างประเทศน้อยไป ซึ่งจะมีผลกระทบกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และสังคมโลก เพราะภาษาอังกฤษเป็นประตูไปสูงสังคมโลก ขณะนี้ประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นแต่หลังจากเป็นอิสระแล้วก็ยังพัฒนาภาษาต่างประเทศต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น